วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กลยุทธ์ 'งูเห่า' กับเกมเขี่ย 'เพื่อแผ่นดิน'

วันศุกร์ ที่ 04 มิถุนายน 2553 เวลา 0:00 น
มีคำถามว่า การ “งัดข้อ” ระหว่างกลุ่มการเมืองที่ร่วมรัฐบาลใน “พรรคเพื่อแผ่นดิน” กับ “พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งใช้การอภิปราย ไม่ไว้วางใจเป็น “จุดเริ่ม” นั้นจะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หรือไม่

คำตอบคือ ไม่แน่ เพราะการเมืองคือเรื่องที่อะไร ๆ ก็เป็นไปได้ ที่เห็นอาจจะไม่ใช่ ที่ใช่อาจจะไม่เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองไทยที่ “ลมหายใจ” ของนักการเมือง “ทั้งหายใจเข้าทั้งหายใจออก” ก็อยากจะเป็นรัฐบาลกันทั้งสิ้น

วันนี้ พรรคภูมิใจไทย ชัดเจนทันทีหลังถูกยกมือไม่ไว้วางใจจากกลุ่มการเมืองที่ร่วมรัฐบาลในพรรคเพื่อแผ่นดิน ด้วยการยื่นเงื่อนไข 7 วัน ให้นายอภิสิทธิ์ “ตัด” พรรคเพื่อแผ่นดิน 32 เสียงออกจากรัฐบาล

ตัดพรรคเพื่อแผ่นดินทิ้งนั้นในความหมายจริง ๆ คือ ตัดกลุ่มการเมืองในพรรคเพื่อแผ่นดินที่มีปัญหาทิ้งไปซะมากกว่า โดยที่อาจจะมีกลุ่มการเมืองอื่นในพรรคเพื่อแผ่นดินมาเข้าร่วม หรือดึงพรรคการเมืองที่ไม่ชัดเจนว่าจะร่วมรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาราชและพรรคมาตุภูมิมาแทน

หากติดตามการอภิปรายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย จะพบว่า ช่วงหนึ่งระบุว่า “ข้อมูล” นี้มาจากรัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่ง

เหตุผลที่พรรคภูมิใจไทยเสนอเช่นนั้นเพราะวันนี้ในทางการเมืองพรรคนี้มี ส.ส.มากกว่าตัวเลขจริง ๆ คือ 32 เสียง แต่มีถึง 47 เสียง และเผลอ ๆ อาจจะมากกว่านั้นอีก การตัดพรรคเพื่อแผ่นดินออกทั้งพรรคจึงไม่ได้หมายความว่าจะตัดไปทั้ง 32 คน ตรงข้ามอาจจะมีบางส่วนไหลกลับเข้ารัฐบาลเพียงแต่อาจจะเปลี่ยนหัวหน้ากลุ่มเท่านั้น

ปัจจุบันพรรคเพื่อแผ่นดินมี 4 รัฐมนตรี ประกอบด้วย 2 รัฐมนตรีว่าการ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการ

อย่าลืมว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้ง ต่อไปจะมีขึ้นก็โน่นปีหน้า ที่สำคัญคือ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีความจำเป็นอะไรอยู่บ้างที่จะ ต้องเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากนอกจากการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 54

ที่สำคัญไปกว่านั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “ผู้จัดการ รัฐบาล” นั้น “มองตาก็รู้ใจ” กับ นายเนวิน ชิดชอบ ตัวจริงเสียงจริงพรรคภูมิใจไทย ถึงขนาดมีเสียงร่ำลือกันว่า ได้จับมือเป็นพันธมิตรกันทั้งในระหว่างการหาเสียงและหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นด้วย

“ขั้วทางการเมือง” ที่พลิกจนประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล นายเนวินนั้นมี “บทบาท” สำคัญยิ่ง

แต่หากพรรคประชาธิปัตย์เลือกทางใดทางหนึ่งนั้นก็ใช่ว่าจะดี เพราะการเมืองคือเรื่องการต่อรอง ผ่านวันนี้ไปได้แล้ววันหน้าจะเอาอะไรไปต่อรองกับพรรคภูมิใจไทย

เป็นเบอร์ 1 แต่ต้องทำตามที่เบอร์ 2 ชี้นิ้วสั่ง

หักกันมาตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงไม่มีทางลืมกันได้ง่าย ๆ

ปรากฏการณ์การเมืองที่กลุ่มการเมืองไปทาง พรรคการเมืองไปอีกทาง นั่นคือ การเมืองแบบที่เราเรียกกันว่า “งูเห่า”

ดีดลูกคิดรางแก้วแล้ว หากจะให้รัฐนาวาอภิสิทธิ์อยู่รอดปลอดภัย นายสุเทพไม่มีทางให้เลือกมากนัก.

ไม่มีความคิดเห็น: