วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

'ใครฆ่าประชาชน' ที่สภาไม่มีคำตอบ

วันพุธ ที่ 02 มิถุนายน 2553 เวลา 0:00 น
วันแรกของ “ญัตติ” อภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทย ได้ทิ้ง “น้ำหนัก”ไว้กับเรื่องเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

คำถามใหญ่ที่พรรคเพื่อไทยพยายาม โยนและลากจูงสังคมไทยให้เดินตามคือ ใครคือไอ้โม่งที่ “ฆ่าประชาชน”

ต่างฝ่ายต่างโทษกัน แต่สิ่งที่สังคมได้รับกลับ “ตรงข้าม” เพราะ “ข้อมูล” ประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ดูเอาจริงเอาจังตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณานั้นไม่ใหม่และไม่เด็ดเท่าที่ควร

แต่ก็ยังไม่แน่ เพราะ “หมัดเด็ด”ของพรรคเพื่อไทยอยู่ที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ซึ่งรู้เรื่อง “กระบวนการคนเสื้อแดง” ดีที่สุดคนหนึ่ง

ก็จะไม่ให้รู้ดีได้อย่างไรในเมื่อเจ้าตัวเล่นเองกับมือ เป็นการ “เล่น” การเมืองทั้งเล่นในสภาผู้แทนราษฎรและเล่นนอกสภาผู้แทนราษฎร

เป็นการเล่นการเมืองยุคใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

“ท่วงทำนอง” ที่บรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทย เรียงหน้าอภิปราย นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศอฉ. เป็นไปในลักษณะ “หนังม้วนเก่า” กล่าวคือ เอาเรื่องที่เกิดมาแล้วมาฉายใหม่แต่แทบน้อยคนนักจะ “แนะ” วิธีการออกจากปัญหาความขัดแย้ง

ขณะที่ฝ่ายค้าน “หนังม้วนเก่า” ฝ่ายรัฐบาลอย่างนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพก็แทบไม่ต่างกัน คือ นำประเด็นที่เคยชี้แจงมาก่อนหน้านี้มาชี้แจงใหม่อีกครั้ง

สุดท้าย “สังคมไทย” ก็ยังงง เบลอ ๆ ไม่รู้ซะทีว่า ใครกันแน่ที่เป็นฝ่าย “ฆ่าประชาชน”

มีข้อน่าสังเกตอยู่ข้อหนึ่งว่า ทำไม รัฐบาลถึงไม่เร่งดำเนินการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด

จริงอยู่แม้นายอภิสิทธิ์จะระบุมา ตลอดว่า กำลังอยู่ระหว่าง “ทาบทาม” ประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งจะต้องเป็นกลางและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ล่าสุด นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาปฏิเสธที่รับเป็นประธานคณะกรรมการฯ ชุดนี้แล้ว

หรือเหตุที่ “ล่าช้า” เพราะยังไม่ได้ตัวประธานคณะกรรมการฯ

ความขัดแย้งทางการเมืองที่เดินมา 3-4 ปี ทำให้สังคมไทย “ขาดแคลน” คนกลางเพื่อมาทำหน้าที่ “คลี่คลาย” เพราะต่างฝ่ายต่าง “ผลัก” คนในสังคมให้เลือกข้าง เลือกฝั่ง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่คาดกันว่าจะเป็นเวทีเพื่อหาความจริง หาคำตอบให้สังคม ที่สุดแล้วก็แค่เวทีทางการเมืองเวทีหนึ่งที่หาความจริงไม่ค่อยจะได้มากนัก และไม่มีคำตอบใด ๆ ให้กับสังคม

จึงต้องหากันต่อไปว่าแล้วใครล่ะที่ “ฆ่าประชาชน”.

ไม่มีความคิดเห็น: