วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553
ค่ายสร้างคน-เรือจ้างให้ชีวิต43ปี"ค่ายพัฒนาชนบทมร.สส."
43 ปีผ่านไป ชมรมค่ายพัฒนาชนบท ที่เกิดจากจิตอาสาของนักศึกษาวิชาชีพครู ยังคงมุ่งสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในถิ่นทุรกันดารอย่างต่อเนื่องทุกรุ่น อาทิ กิจกรรมมอบอุปกรณ์การศึกษา สร้างห้องสมุด สอนหนังสือเด็ก พัฒนาสิ่งแวดล้อม และซ่อมบำรุงอาคารอเนกประสงค์ของชุมชน ด้วยการสละแรงกายแรงใจเท่าที่จะทำได้แล้วลงมือปฏิบัติทันที
"ท็อป" ธนวิษณ์ ศรีจันทร์ อายุ 20 ปี นักศึกษาปีที่ 3 ประธานค่ายพัฒนาชนบท กล่าวว่า ความสุขของชาวค่ายอย่างเราไม่ได้อยู่ที่ความสะดวกสบายในอาหารการกิน หรือความเป็นอยู่ขณะลงพื้นที่เพื่อจัดค่าย แต่อยู่ที่การได้เห็นคนรับมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” แม้จะเติบโตในครอบครัวข้าราชการใน จ.ศรีสะเกษ แต่ท็อปก็ทำกิจกรรมออกค่ายอาสามาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม
ล่าสุดไปออกค่ายสร้างห้องสมุด ที่ ร.ร.บ้านหนองขอนแก่น สาขาบ้านสี่แยก อ.โพนทอง ต.นาอุดม จ.ร้อยเอ็ด เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีครู 3 คน นักเรียน 60 คน เท่านั้น ท็อปบอกว่า ตั้งใจจะทำค่ายไปตลอดจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา เพราะการทำค่ายทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตมากมาย ทั้งการทำงานร่วมกับคนอื่น การช่วยเหลือผู้คนในสังคม ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตจริงในการทำงาน
"แบงค์" สมชาติ หิรัญภูมิ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สมาชิกค่ายพัฒนาชนบท ผ่านชีวิตของการทำค่ายพัฒนามากว่า 20 ครั้ง ตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยม แบงค์ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมดีๆ สู่สังคม แม้ว่าต้องเหน็ดเหนื่อยก็ตาม แต่ก็ยังยืนยันที่จะเดินบนเส้นทางนักพัฒนาต่อไป เพราะทราบดีว่า รสชาติของความขาดแคลนเป็นอย่างไร
"ผมเคยเป็นเด็กบ้านนอกที่ยากจนคนหนึ่ง เราเคยโหยหา เคยอยากได้อยากมีทั้งของเล่น หนังสือเรียน แต่ไม่มีเงินซื้อ และเพราะมีผู้ใหญ่ใจดี มาเลี้ยงอาหาร มามอบโอกาสทางการศึกษานี่เอง จึงทำให้ผมมีชีวิตที่ดีขึ้นในปัจจุบัน วันนี้ผมจึงอยากมีส่วนช่วยน้องๆ ในชนบทบ้าง" แบงค์เล่าถึงอดีต
แม้ว่าค่ายพัฒนาชนบทจะเกิดขึ้นมานานก็ตาม แต่เส้นทางของเยาวชนนักพัฒนาไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นนัก เนื่องจากงบประมาณการจัดค่ายแต่ละครั้งสูงถึง 1-2 แสนบาท ทุกวันหลังเลิกเรียนสมาชิกในชมรมจึงจำเป็นต้องแบ่งกลุ่มเพื่อตั้งกล่องรับบริจาคเงินจากผู้คนตามสถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตลาดนัดจตุจักร เป็นต้น
"ตั๊กม้อ" จิราพร จันทเขต อีกหนึ่งสาวจากชมรม เล่าว่า นอกจากการขอบริจาคเงินแล้ว เพื่อนสมาชิกที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัดได้ขอรับบริจาคเครื่องแต่งกาย หนังสือ และอุปกรณ์การศึกษาที่จำเป็นอื่นๆ จากสมาชิกในแต่ละจังหวัดด้วย แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรค คือ การจัดค่ายของเธอไม่เป็นที่รู้จักพอ รวมทั้งทำหนังสือของบประมาณจากองค์กรเอกชนทุกปี แต่ก็ไม่เคยได้รับการสนับสนุน
"ทุกปีเราทำหนังสือขอไปยังบริษัท ห้างร้านหลายที่ แต่ถูกปฏิเสธทุกที่ บางแห่งบอกเราว่าไม่มั่นใจในศักยภาพของกิจกรรมที่นักศึกษาจัดขึ้น บางแห่งอ้างว่า ช่วยแล้วบริษัทไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ทำ งบประมาณส่วนใหญ่จึงมาจากจิตศรัทธาของผู้คนทั่วไปมากว่าการสนับสนุนจากภาคเอกชน" ตั๊กม้อเล่า
งบประมาณที่รวบรวมได้ คณะกรรมการชมรมจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ค่าอาหาร ค่าวัสดุสร้าง หรือซ่อมบำรุงอาคารต่างๆ และค่าอุปกรณ์การศึกษา สมาชิกในค่ายกับชาวบ้านรับผิดชอบร่วมกันด้านแรงงานก่อสร้างอาคาร
ด้าน "เอ้" กาญจนา ปันแสน รองประธานชมรมค่ายพัฒนาชนบท บอกว่า เมื่อก่อนเคยใช้ชีวิตแบบคนเมืองอยู่กินด้วยความสะดวกสบายตั้งแต่เด็ก จึงไม่มีแรงศรัทธาในการพัฒนาชนบทมากนัก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องลำบาก ไร้ประโยชน์ แต่พอได้เข้าค่ายครั้งแรกจากการบังคับของอาจารย์สมัยมัธยม ทำให้ได้สัมผัสกับการกินการนอนแบบชาวบ้านที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากนัก สิ่งที่เอ้มองเห็นระหว่างการเข้าค่ายมีเพียงน้ำใจจากคนชนบทและความทุ่มเทของชาวค่าย เธอจึงมองเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือสังคมมากขึ้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น